Articles

คาถาหัวใจเศรษฐี

เชื่อว่าท่านผู้อ่านที่กดเข้ามาอ่านในบทความนี้ ต่างก็อยากเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐีกัน ไม่ต่างจากข้าพเจ้า จากการได้อ่านหนังสือ และค้นหาในที่ต่างๆ ของการที่จะทำให้เราก้าวเข้ามาเป็นเศรษฐีได้นั้น จึงพบหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาที่เรียกว่า “ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4”

ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4หรือ
ที่เราเรียกๆ กันติดปากว่า
“คาถาหัวใจเศรษฐี (อุ อา กะ สะ)” นั่นเอง

ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ เป็นหลักธรรมในพุทธศาสนา คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน 4 อย่าง บ้างเรียกว่า หัวใจเศรษฐี “อุ อา กะ สะ” อาจเรียกสั้น ๆ ว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ
หัวใจเศรษฐี ก็คือ หลักธรรมที่นำไปสู่จุดหมายนั่นเอง จะทำอะไรก็สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น นักเรียน นักศึกษา พ่อค้าแม่ค้า พนักงานบริษัท นักธุรกิจ นักการเมือง ถ้านำหัวใจเศรษฐีนี้ไปปรับใช้กับชีวิตก็รับประกันได้ถึงความสำเร็จ

ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 หมายถึง ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน หลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขขั้นต้น เพื่อประโยชน์สุขสามัญที่มองเห็นกันในชาตินี้ ที่คนทั่วไปปรารถนา มี ทรัพย์ ยศ เกียรติ ไมตรี เป็นต้น อันจะสำเร็จด้วยธรรม 4 ประการ คือ

  1. อุ : อุฏฐานสัมปทา คือ ความขยัน ถึงพร้อมด้วยความหมั่น เช่นขยันหมั่นเพียร เลี้ยงชีพด้วยการหมั่นประกอบการงาน เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอดส่อง อันเป็นอุบายในการงานนั้น ให้สามารถทำได้สำเร็จ
  2. อา : อารักขสัมปทา คือ รักษาดี ถึงพร้อมด้วยการรักษาโภคทรัพย์ (ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร โดยชอบธรรม) เขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้ได้พร้อมมูล ไม่ให้ถูกลัก หรือทำลายไปโดยภัยต่างๆ
  3. กะ : กัลยาณมิตร คือ  มีเพื่อนดี คบคนดี ไม่คบคนชั่ว อยู่อาศัยในบ้านหรือนิคมใด ย่อมดำรงตน เจรจา สนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคมนั้น ซึ่งเป็นผู้มีสมาจารบริสุทธิ์ ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา
  4. สะ : สมชีวิตา คือ ใช้ชีวิตพอเพียง อยู่อย่างพอเพียง รู้ทางเจริญทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้สุรุ่ยสุร่ายฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้

ในส่วนของ อา : อารักขสัมปทา นั่น ทางพระพุทธองค์ยังได้อธิบายเพิ่ม และยังสอนวิธีเก็บรักษาเงินเอาไว้เป็นข้อๆ ดังนี้

  1. หมั่นเก็บออม ไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เงินก้อนนี้ต้องมี ปัจจุบันกูรูทางการเงิน ก็มักจะแนะนำให้เราหัก 10% จากรายได้ เพื่อออม ซึ่งยังถือเป็นการฝึกนิสัยเศรษฐ๊อีกด้วย
  2. นำเงินส่วนหนึ่งเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อย่าตะหนี่ถึ่เหนี่ยว จนอดอยาก ทำให้ครอบครัวลำบาก เงินจะมีค่า เมื่อมันถูกใช้จ่ายออกไป
  3. เมื่อเงินออมเรามีมากในระดับหนึ่ง เราก็ควรนำมาต่อเงิน ใช้เงินสร้างเงิน เพื่อให้เงินออกลูก ออกหลาน ทำงานแทนเรา เงินเราจะงอกเงย เพิ่มพูน
  4. จ่ายคืนสู่สังคม ในรูปบริจาค หรือ จ่ายภาษี เพื่อให้แผ่นดินมีเงินนำไปพัฒนา
  5. บำรุงพระพุทธศาสนา เพื่อให้ภิกษุสงฆ์ ได้มีแรงในการปฏิบัติธรรม สืบทอดพระพุทธศาสนา

ดังนั้น เราควรท่องคาถาหัวใจเศรษฐีนี้ทุกครั้ง เพื่อให้เราเข้าใจ และเน้นย้ำถึง ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 คือ ขยัน รักษาดี มีเพื่อนดี และมีชีวิตที่พอเพียง เมื่อปฏิบัติได้ดังนี้แล้ว ทุกท่านก็จะได้เป็นเศรษฐ๊ มหาเศรษฐีสมใจ

คาถาหัวใจเศรษฐี

Most Popular

To Top